โคเออร์แม่สอดจัดให้การอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรด้านการเกษตร

เมื่อวันที่ 12 – 14 มกราคม 2559 เจ้าหน้าที่โครงการเกษตรกรรมของโคเออร์ได้ให้การอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรด้านการเกษตรภาคปฏิบัติ ด้วยการนำเยี่ยมแปลงเกษตรของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้คำแนะนำต่อเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในครัวเรือนของตนเอง ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้ในเรื่องการพัฒนารูปแบบของการทำการเกษตรของชาวบ้านในชุมชนด้วยวิธีการต่างๆ นอกเหนือจากปลูกลงดิน ยังมีการปลูกผักในกระถาง การปลูกผักในกระสอบและรวมถึงการหมักปุ๋ยเอาไว้ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนในการผลิตผัก

ต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จัดพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ผ่านหลักสูตรการอบรมเตรียมความพร้อมการเป็นวิทยากรที่พื้นที่ฯ บ้านอุ้มเปี้ยม ซึ่งมีผู้ผ่านการอบรมทั้งหมด15 คน

พิธีมอบเกียรติบัตรให้ผู้ผ่านการอบรมวิทยากรการเกษตรกรรม 15 คน มีขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 มีการประชุมร่วมกับเกษตรกรที่ทำการเกษตรในพื้นที่เช่า จำนวน 8 ครอบครัวหารือเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูก

เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอ ในพื้นที่เช่า จึงลดการเพาะปลูกลง ส่วนการเลี้ยงสัตว์ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และ มีการนำมูลหมูมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับรดพืชผักในแปลง

กลุ่มเลี้ยงสัตว์ในอุ้มเปี้ยมมีการจัดการและดูแลอย่างดี เช่น กลุ่มเลี้ยงกระต่ายมีจำนวนกระต่ายเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีกระต่ายพ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 3 ตัว และลูกที่เพิ่งคลอด เมื่อวันที่ 10 มกราคม จำนวน 7 ตัว

กิจรรมเกษตรที่บ้านแม่หละ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ทำการเพาะปลูกที่บริเวณโซนซี และนำผลผลิตจากแปลงมาจำหน่ายหน้าสำนักงานโคเออร์ทุกวันอังคาร และวันพฤหัสบดี

กิจกรรมที่บ้านนุโพ ในเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ เกษตรกรที่ผ่านการอบรมเกษตรอินทรีย์ ก็ได้เริ่มกลับไปดำเนินการเพาะปลูกในบริเวณบ้าน ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ก็จะเก็บไว้กินในครัวเรือน

ส่วนแปลงเกษตรสาธิตบ้านนุโพ มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 4 คน และกำลังจะมีการขยายเพิ่มเติมในบริเวณข้างเคียง เพื่อรองรับผู้ลี้ภัยที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ ปัจจุบันแปลงเกษตรในบางส่วนเริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายภายในพื้นที่ ฯโดยมีการปลูกหลากหลายชนิด เช่น ถั่วแขก มะเขือเทศ ผักบุ้ง และผักชี เป็นต้น

การติดตามงานของแปลงเกษตรกรโดยเจ้าหน้าที่โครงการ จากการติดตามงานของเจ้าหน้าที่โครงการเกษตรในพื้นที่พักพิง สิ่งที่พบคือ แต่ละครัวเรือนมีการปลูกพืชหลากหลาย อย่างน้อย 4- 5 ชนิด มีการใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ในการทำการเกษตรเพื่อลดต้นทุนในการผลิต เช่น การหมักปุ๋ยโดยใช้เศษพืชสด และการปลูกพืชหลากหลายเพื่อป้องกันแมลงรบกวนหรือแมลงที่ทำลายผลผลิตทางการเกษตร ในส่วนของเกษตรกร มีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ที่ได้จากการเพาะปลูกภายในชุมชนของตนเอง